Site icon เดลิมิเร่อร์

เปิดประตูเชียงตุง หรือเขมรัฐตุงคบุรี (ตอนที่ 1)

รถของผู้เขียนขับวนเวียนอยู่บนไหล่เขาเกือบ นับร้อยๆโค้งมุ่งหน้าสู่เชียงตุง มองเห็นธารน้ำใสไหลแรง เซาะก้อนกินกลมๆเลียบถนนยาวนับร้อยกิโลเมตร นาขั้นบันไดยังคงงดงามตื่นตาตื่นใจ ครั้งที่ 11 แล้วที่ต้องมาเชียงตุง  หลายคนถามว่ามาทำอะไรบ่อยๆ คำตอบคือ… มาทำบุญ มากราบพระครูบาวิมุตโต๋ พระอรหันต์แห่งเชียงตุงที่ช่วยชีวิตคุณแม่ของผู้เขียนไว้  มาทุกครั้งก็มีความสุขทุกครั้ง
.
เมืองเชียงตุง  เป็นเมืองคนดีผู้คนรักษาศีล 5 อย่างเหนียวแน่น  ไม่มีสถานีตำรวจ เพราะคนไม่ทำผิด  ต่างอยู่อย่างสงบร่มเย็น ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ผู้คนยิ้มแย้มมีความซื่อสัตย์ มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  ยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนประเทศไทยเมื่อ 50-100 ปีที่แล้ว
.
เมืองเชียงตุงเป็น อยู่ในรัฐฉานของพม่า  เป็น “เมืองลูกหลวง” ขึ้นกับอาณาจักรล้านนาและ ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4  เชียงตุงยังเป็นส่วนหนึ่งของสยามและเสียให้อังกฤษไปในสมัยรัชกาลที่ 5
.
ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ แห่งเชียงใหม่ ได้ทรงกอบกู้เชียงใหม่จากพม่า และไล่ตีเมืองต่างเข้าไปจนถึงเมืองเชียงตุงและกวาดต้อนผู้คนเข้ามายังเชียงใหม่ และตั้งภูมิลำเนาในตัวเมืองเชียงใหม่ ในเขตอำเภอเมือง อำเภอสันกำแพง อำเภอสันป่าตอง
.
ชาวไทขึน   ช่างที่สร้างเครื่องเขินให้กับสำนักพระราชวังของเชียงตุง ถูกเกณฑ์มาในครั้งนั้น ขุนนางและกลุ่มช่างมีฝีมือ อยู่อาศัยในพื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในและชั้นนอกรอบวัด นันทาราม วัดดาวดึงษ์ วัดธาตุคำ วัดเมืองมาง วัดศรีสุพรรณ ส่วนกลุ่มคนที่เป็นเกษตรกรได้อยู่รอบนอกเวียง เช่น ที่วัดป่างิ้ว วัดสันต้นแหน วัดสันข้าวแคบ วัดสันกลาง วัดสันก้างปลา ในเขตอำเภอสันกำแพง และแถบอำเภอดอยสะเก็ดที่   วัดป่าป้องเป็นชุมชนไทเขินสืบมาถึงปัจจุบัน ส่วนชาวไทยยองที่ถูกเกณฑ์มาอยู่แถวลำพูนก็เป็นช่างทอผ้าที่เก่งที่สุดของกลุ่มไทยใหญ่เช่นกัน
.
ช่วงที่ฝรั่งกำลังล่าเมืองขึ้น  แคว้นสิบสองปันนาซึ่งเป็นพวกไทยลื้อ ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน และถูกครอบครองโดยคนสามชาติด้วยกัน เมืองย็อง เมืองแฮ่ เมืองขัน เมืองลื้อ เมืองหลุย ขึ้นกับอังกฤษ แต่ยกให้เชียงตุงปกครอง เมืองเชียงรุ่ง เมืองน้า เมืองลา เมืองหัน นั้นขึ้นกับจีน ส่วนเมืองที่เหลือตกเป็นของฝรั่งเศส
.
เชียงตุงทำไมถึงต้องไปอยู่กับพม่า

.
สงครามโลกครั้งที่สอง ไทยถูกญี่ปุ่นบังคับให้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ พอดีช่วงนั้นญี่ปุ่นได้เข้าครอบครองพม่า ไทยจึงต้องส่งคนไปปกครองเชียงตุงแทนญี่ปุ่น พอสงครามสงบลง ญี่ปุ่นถอยจากพม่าแล้ว ไทยจึงต้องถอยออกจากเชียงตุงด้วย   แล้วหลังจากนั้นอีกไม่นานอังกฤษก็ประกาศปลดปล่อยพม่าเป็นเอกราช  แต่ก่อนที่จะปลดปล่อยอังกฤษได้ถามความสมัครใจของชาวเชียงตุงว่าต้องการขึ้น อยู่กับไทยหรือขึ้นอยู่กับพม่า  เนื่องจากหมู่ข้าราชการเชียงตุงเห็นว่า  ระหว่างที่ไทยไปปกครองเชียงตุงนั้น ทหารไทยไปทำรุงรังกับคนเชียงตุง ถ้าบ้านไหนร่ำรวย ก็ขึ้นปล้นเอาทองคำไป
.
สมเด็จเชฐอัครชายา อาชญาธรรมพระเจ้า สมเด็จพระสังฆราชแห่งนครเชียงตุงองค์ปัจจุบันเล่าให้ผู้เขียนและคณะคนไทยที่ไปกราบท่านว่า  สมัยที่จอมพลผิน ชุนหะวัน มาประจำการที่เชียงตุงที่ท่านยังเป็นเณรเล็กๆ  มีนายทหารไทยชื่อหลวงวีรวัฒน์โยธิน มายกเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง ขนาดหน้าตัก 18 นิ้ว สูง 21 นิ้ว จากวัดเชียงยืนไป ทั้งที่พระสงฆ์เจ้าอาวาสและคนเชียงตุงขอร้องแล้วขอร้องอีก  ว่าอย่าเอาไป ทหารไทยก็ไม่ฟัง ท่านเล่าว่า มีคนนิมนต์เจ้าอาวาสออกไปนอกวัด กลับมาเขาเอาลงลังตอกตะปูไปแล้ว ท่านเข้าไปร้องให้ในกุฎิอยู่นาน  และยังมีนายทหารหนุ่มรูปงามตัวสูงใหญ่ นำพระเจ้าฝนแสนห่า ที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองไปอีก   คนเชียงตุงร่ำให้โศกเศร้ากันอยู่นาน ฝนไม่ตกอยู่หลายปี เศร้าใจกับพฤติกรรมคนไทยที่หักหาญน้ำใจชาวเชียงตุงยิ่งนัก จึงหันไปเลือกขึ้นกับพม่าแทน
.
อังกฤษสามารถครอบครองพม่าได้อย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. ๒๔๒๙  และเข้ายึดครองและปกครองเชียงตุงได้ในปี ๒๔๓๓ 
.
เจ้าฟ้าเชียงตุง
.
เชียงตุงมีเจ้าฟ้าปกครองต่อเนื่องกันมา ๓๓ พระองค์   โดยพระโอรสและพระธิดาของเจ้าเชียงตุงกับเจ้าเชียงใหม่จะอภิเษกสมรสกันหลายยุค สืบเป็นโบราณราชประเพณี  ละครเรื่องรอยไหม ที่ช่อง 3 ก็เคยนำมาฉายให้รู้จักเชียงตุงกันบ้างแล้ว 
.
ภาพ ถ่ายในวันเสกสมรส ระหว่างเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่(โอรสองค์สุดท้ายในพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ) และเจ้านางสุคันธา ณ เชียงตุง(พระธิดาแห่งเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 ณ หอคำเชียงตุง           
.
สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุงที่ดังที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ เจ้านางสุคันธา และเจ้าอินทนนท์   เจ้านางสุคันธา คือ พระธิดาเจ้าหอคำเชียงตุงเจ้าฟ้าก้อนแก้นอินทรแถลง ขัตติยนารีของชาวเขินที่มีสายสัมพันธ์รักกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่ คือเจ้าอินทนนท์ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าหลวงเชียงใหม่ ทั้งสององค์ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในนครเชียงใหม่ตราบสิ้นลมหายใจ
.
ในช่วงปีใหม่และออกพรรษาเชียงตุงจะมีพิธีคารวะ  เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีของเจ้าเมือง ต่างๆในอาณัติของเชียงตุง พิธีนี้มีอยู่สองวันด้วยกัน วันแรกเรียกว่าวันกิ่นป๋าง เป็นวันที่เจ้าเมืองทุกคนจะเสวยอาหารร่วมกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง โดยมีอาหารหลักเป็นพิเศษอยู่ห้าอย่างคือ แกงฮังเล น้ำซุปถั่วลันเตา ผักกุ่มดอง แคบหมูกับน้ำพริกอ่อง และข้าวเหนียว
.
เสร็จจากนั้นวันที่สองถือเป็นวันคารวะ ในวันนี้เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง จะประทับบนแท่นแก้วส่วนพวกเจ้าเมืองจากสามสิบกว่าเมืองจะ ทยอยกันเข้าไปในห้องพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนมาวางไว้ตรงหน้าแท่น  ประทับคนละขัน  ปักเทียนเล่มใหญ่  มาในขันที่ทำจากเงินแท้ ตีเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางๆ เจาะรูตรงกลางประดับด้วยดอกบานไม่รู้โรยทั้งข้างบนข้างล่าง เสียบมาโดยรอบเทียนจำนวนห้าดอก  หลังจากนั้นเจ้าเมืองจะ ” สูมา ” หรือไหว้เจ้าฟ้า เจ้าฟ้าให้พรตอบแล้วพวกช่างฟ้อนก็มาฟ้อนหางนกยูงให้พวกแขกบ้านแขกเมืองดู เป็นอันเสร็จพิธี

[ngg_images source=”galleries” container_ids=”633″ display_type=”photocrati-nextgen_basic_thumbnails” override_thumbnail_settings=”0″ thumbnail_width=”240″ thumbnail_height=”160″ thumbnail_crop=”1″ images_per_page=”20″ number_of_columns=”0″ ajax_pagination=”0″ show_all_in_lightbox=”0″ use_imagebrowser_effect=”0″ show_slideshow_link=”1″ slideshow_link_text=”[Show slideshow]” order_by=”sortorder” order_direction=”ASC” returns=”included” maximum_entity_count=”500″]
Exit mobile version