เห็นแค่รูปก็รู้ไปถึงใจ โดย สุรชัย จงจิตงาม

ผู้คนโดยทั่วไปย่อมชอบดูสิ่งที่สวยงาม แช่มชื่นเบิกบานใจกันทุกคน  พุทธศาสนารู้ทันธรรมชาติข้อนี้ของมนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังคงเป็นปุถุชนว่ายังมีกิเลสอันยึดติดอยู่ในความงาม  พุทธศาสนาจึงได้ใช้ความงามนี้เองเป็นอุบายในการโน้มนำใจของมนุษย์ให้คิดดี เพื่อน้อมนำกายให้กระทำความดี  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดงานศิลปะที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงที่มีคุณค่าทางพุทธศาสนาในฐานะที่เมื่อเสพงานศิลปกรรมแล้วสามารถทำให้เกิด “กุศลจิต”  ที่น้อมนำใจให้เราคิดดี  ประพฤติดีตามแนวทางของศาสนา
.
พุทธศาสนิกชนไทยล้วนเคยเข้าวัดวาอารามมาแล้วทั้งสิ้น สายตาที่ได้แลเห็นจิตรกรรมฝาผนัง และปูนปั้นที่ประดับตกแต่งอุโบสถ  และวิหารภายในวัดย่อมทำให้ใจได้สัมผัสกับความงดงามของผลงานศิลปกรรมภายในวัดที่ช่างได้บรรจงสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงาม ให้ความรู้สึกดุจจำลองทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์มาไว้บนโลกมนุษย์   แผนผังวัดจำนวนไม่น้อยถึงกับจำลองเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลพร้อมด้วยเจดีย์จุฬามณีมาประดิษฐานบนโลกมนุษย์กันเลยทีเดียว  ทำให้พวกเราไม่จำต้องเสียเวลาเหาะไปถึงดาวดึงส์เพื่อที่จะไหว้เจดีย์จุฬามณีแต่อย่างใด
.
เมื่อการเดินทางเข้าวัดเปรียบดุจการเดินทางขึ้นสู่สวรรค์เช่นนี้แล้ว เราจึงย่อมพบเห็นเทวดาและนางฟ้าประดับตกแต่งอยู่ทั้งในงานจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วิหาร หรือเป็นรูปประติมากรรมประดับหน้าบันได้ทั่วไป
.
แต่ผมอยากถามว่า  เราเคยสังเกตบ้างไหมว่า เทวดาและนางฟ้าทุกอนงค์นางที่งดงามทุกองค์ล้วนปรากฏในรูปกายที่เป็นหนุ่มหล่อและสาวสวยทั้งสิ้น เราจะไม่มีวันได้พบภาพของเทวดาและนางฟ้าในศิลปกรรมของพุทธศาสนาที่แสดงด้วยรูปกายของวัยเด็กและวัยชราเลย
.
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นล่ะ
?
.
ถ้าเรารู้จักพุทธศาสนาดีพอจะตอบได้ไม่ยากเลย คติทางพุทธศาสนากล่าวว่า เทวดาและนางฟ้ามีกำเนิดที่แตกต่างจากมนุษย์ ซึ่งเรียกการอุบัติของเทวดาว่า  “อุปปาติกโยนิ”  คือ เมื่อเทวดาและนางฟ้าจุติขึ้นมาบนสวรรค์แล้วก็จะมีรูปกายที่เป็นหนุ่มเป็นสาวหล่อเหลาและสวยงามในทันทีโดยไม่ต้องผ่านวัยเด็ก และจะคงรูปกายความเป็นหนุ่มสาวเช่นนั้นตลอดช่วงอายุขัยของความเป็นเทวดาโดยไม่แก่ชราไปตามเวลาเลย
.
แล้วความหล่อ ความสวยเช่นนั้นได้มาอย่างไรกัน?
.
ความสวยและความหล่อเหลาอันงดงามของเหล่าเทวดาและนางฟ้านั้น เกิดขึ้นได้ก็เพราะเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ได้ทำกรรมดีต่างๆ เช่น เชื่อว่าหากผู้ใดทำบุญด้วยการสร้างวิหารหรือธรรมาสน์ถวายแก่พระศาสนาแล้ว เมื่อตายไปก็จะได้จุติเป็นเทวดามีทิพยมานที่งดงามดุจวิหารและธรรมาสน์ที่ตนได้สร้าง  และเมื่อหมดบุญได้จุติเป็นมนุษย์แล้วก็จะมีรูปกายที่งดงามหล่อเหลา หรือในชาดก เช่น จันทเสนชาดก กล่าวว่าหากปฏิสังขรณ์ และปิดทองพระพุทธรูปที่ชำรุด ผลบุญชาติต่อไป คือ จะได้จุติเป็นเทวดา และหากเกิดเป็นหญิงก็จะมีผิวขาวเนียนเรียบสวย
.
พูดง่ายๆ คือ ชาวพุทธสายพันธุ์แท้ดั้งเดิม ถ้าอยากสวยอยากหล่อหรืออยากงดงามไม่ว่าจะเป็นระดับคนหรือเทพ  ก็ต้องหมั่นทำความดีมากๆ เข้าไว้  ถ้าทำมากก็ยิ่งเกิดมาหล่อมาก  สวยมากนั่นเอง
.
“ความงาม”  จึงย่อมเป็นเนื้อเดียวกับ “ความดี”  อย่างไม่อาจแยกจากกันได้ 
.
ความสวย และความหล่อตามแบบของพุทธศาสนาเช่นนี้  จึงมิใช่เป็นความงดงามเพียงรูปกายภายนอกที่เห็นได้ด้วยตาเท่านั้น   แต่ยังสะท้อนถึงความงดงามของจิตใจอันดีงามที่ต้องใช้ใจสัมผัสอีกด้วย
.
เรียกได้ว่า
“เห็นแค่รูปก็รู้ไปถึงใจ”  อันงดงามหมดจดได้  และเน้นย้ำให้พวกเรารู้ว่าที่สุดแล้วก็อย่าติดแค่ความงามในรูปกาย   แต่ไปให้ถึงเบื้องหลังอันเป็นสาเหตุของรูปกายที่งดงาม นั่นคือ  การทำความดี เพราะถ้าใครได้ใกล้ชิดกับคนที่มีจิตใจดีเช่นนี้ย่อมมีความสุข
.
คุณค่าและความหมายของความเชื่อทางพุทธศาสนาเช่นนี้ คือ เตือนให้มนุษย์รู้ว่า ความสวย  และความหล่อมีที่มาจากการทำกรรมดี ประพฤติดี  ถ้าอยากสวยและหล่อก็ต้องหมั่นทำความดี ประพฤติดีให้มากๆ
.
อย่างไรก็ตาม  เมื่อเราก้าวมาอยู่ในยุคปัจจุบัน ความเชื่อเช่นนั้ดูจะสวนทางกับโฆษณาชวนเชื่อในยุคคอมพิวเตอร์ที่กรอกหูผู้คนในวันนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงว่า ความหล่อ ความสวย และขาวใส คือ สิ่งที่สามารถใช้ “เงิน” หาซื้อมาครอบครองได้ด้วยการทำศัลยกรรม หรือการใช้ Whitening Gel  มากกว่า เพราะถ้าขืนมัวมารอทำกรรมดี  ดูจะเห็นผลช้า ย่อมไม่ทันอกทันใจ  และไม่มั่นใจว่าจะได้ผลแน่นอนนัก
.
ฉะนั้นหากอยากจะได้ความงดงามมาครอบครองให้อยู่ในเรือนร่างของตนก็ไม่จำเป็นต้องประพฤติดี ทำกรรมดีก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจจะได้คนที่ “งาม”  อย่างปราศจากความประพฤติที่ดีก็ได้ในโลกปัจจุบัน
.
ก็เพราะว่า พวกเราในยุคนี้เองที่ทำให้คุณค่าของความงามถูกแยกขาดออกจากความดี  หรือการทำดีอย่างเด็ดขาด  ทุกคนก็เลยงามได้  สวยได้  โดยไม่จำเป็นต้องทำความดี
.
“ความงาม”  จึงแยกขาดจาก “ความดี”  ได้อย่างเด็ดขาด
.
เมื่อเป็นเช่นนี้  “เห็นเพียงแค่รูป จึงมิอาจหยั่งรู้ถึงใจว่าจะเป็นอย่างไรได้”
.
สังคมไทยในอดีตภายใต้พุทธศาสนาย่อมคุ้นเคยและรู้ดีว่า คุณค่าของความงามไม่สามารถแยกออกจากการทำความดีและมีความสัมพันธ์กันเสมอระหว่าง “ความดี” และ “ความงาม” ว่าเป็นของที่คู่กันดังวลีในภาษาไทยที่มักได้ยินกันเสมอว่า “ดีงาม” เช่น หากเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ และบริจาคทานก็มักได้รับคำชมและอนุโมทนาในการประพฤติดีเช่นนั้นว่า
.
“…การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีงาม…

.
เพราะเชื่อว่าการทำดี ประพฤติดีย่อมส่งผลบุญให้มีรูปกายที่งดงาม รูปกายอันงดงามจึงไม่ได้มีคุณค่าบ่งชี้เพียงแค่ว่าสวยหรือหล่อ แต่ยังบ่งชี้ถึงการเป็นคนดีมีความประพฤติและมีจรรยาดี  และยังเป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้มีความงามในเรือนกายใด้พึงตระหนักในการกระทำกรรมดี  และประพฤติตนที่ดี
.
ผมมีน้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับกล้องจุลทรรศน์ทุกวัน น้องเล่าว่า เขารู้จักมนุษย์ลึกลงไปถึงระดับเนื้อเยื่อและเม็ดเลือด ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่พอถามว่า แล้วรู้ไหมว่าเจ้าของเลือดหยดนั้น และเนื้อเยื่อชิ้นนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว ?     น้องหัวเราะแล้วตอบว่า
.
“…มันตรวจไม่ได้หรอกพี่…”
.
ความเจริญรุดหน้าของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แม้จะพัฒนาไปไกลจนรู้จักมนุษย์ถึงระดับ DNA แล้ว  แต่กลับไม่ได้ช่วยให้เรารู้จักคุณค่าความประพฤติของเพื่อนมนุษย์เพิ่มขึ้นได้เลย
.
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้เราเห็นหน้าและอ่านวาจาของผองเพื่อน พี่น้องได้ใกล้ชิดตลอดเวลาผ่านทาง Facebook อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยั่งรู้ถึงจิตใจของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริงง่ายดายเหมือนดูรูปเสมอไป เพราะจิตใจและความประพฤติอาจตรงกันข้ามกับหน้าตาและวาจาที่เห็นผ่านหน้าจอที่สามารถ “สร้างภาพ” ผ่านโลกแบบเสมือนจริงก็เป็นได้
.
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว แม้ในปัจจุบันด้วยอำนาจทางเทคโนโลยีอาจดูเสมือนว่าทำให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น   แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้นเสมอไป.
.
บทความโดย สุรชัย จงจิตงาม