ลาออกมาเป็นเจ้าของกิจการดีไหม?

คงจำกันได้ว่า หลายปีมานี้มีหนังสือ ประเภท ลาออกจากงานมาทำกิจการของตัวเอง ขายดีเป็นพิเศษ  ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะมนุษย์เงินเดือนนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าเจ้าของกิจการ แถมมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่นต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย เจ้านายไม่ชอบหน้า แล้วยังปัญหาเพื่อนร่วมงานเขม่น ดังนั้น พอมีคัมภีร์ชี้ทางรวยด้วยกิจการตัวเองออกมาขาย แถมมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็ชวนให้คิดไปเองว่า ถ้าลาออกจากงานประจำแล้วมาทำธุรกิจของตัวเองนั้นคงร่ำรวยเหมือนใครต่อใคร แน่นอน
.
เดือนที่ผ่านมา มีคนที่ผมรู้จักอย่างน้อยสองคน ที่มาระบายความอัดอั้นใจ แล้วบอกว่าอยาก “ลาออก” จากงานที่ทำอยู่จะ นำเงินเก็บมาลงทุนสร้างกิจการของตัวเองดีกว่า สาเหตุของคนแรกนั้น บอกว่า ทำงานเหนื่อย แต่ไม่เคยเข้าตาเจ้านาย ขืนทำไป ก็ไม่มีอนาคต ส่วนอีกคนที่อยู่ระดับฝ่ายบริหารแล้ว  ก็อึดอัดใจ เพราะเสนออะไรไปก็ไม่ค่อยได้รับอนุมัติ ครั้นพอกิจการขาดทุน ตัวเองก็อดขึ้นเงินเดือน.
.
สรุป คือ ถ้าอยู่ที่เดิม คงรู้แล้วว่า “ไม่ก้าวหน้า” !
 
ปัญหาคือ จะมั่นใจได้อย่างไร ว่าหาที่อยู่ใหม่แล้วจะดีกว่าเก่า…เรื่องแบบนี้ “ตัวเอง” เท่านั้นที่ตอบได้
.
ในฐานะที่ปรึกษา เจ้าของกิจการ SMEs หลายราย อยากบอกว่า คนเป็นเจ้าของกิจการ ก็มีปัญหาไม่น้อยเช่นกัน เผลอๆ จะหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำ เพราะแต่ละเดือนที่ผ่านไป ยังไม่รู้เลยว่าจะมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่ บางรายไปกู้มาลงทุน เจอดอกเบี้ย พอกเข้าไป ชีวิตติดลบอีก
.
คนที่เป็นพนักงาน ยังไงก็ยังมีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำ  แถมถ้าถูกไล่ออกอย่างเป็นธรรม ก็ยังไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับกรมแรงงานได้…แต่ถ้ากิจการเจ๊ง..หน่วยงานที่รับจดทะเบียน เขาก็ไม่รับผิดชอบ แถมลืมไปแจ้งเลิก…จะโดนข้อหาอีก
.
ขอย้อนเล่าถึงวันที่ผมจะลาออกจากการเป็นพนักงาน…
.
วันนั้นผมขับรถตระเวนตามธนาคารเพื่อพาเจ้าของกิจการไปขอเงินกู้เพื่อเอามาให้เงินเดือนพนักงาน…ผมเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า ถ้าทำต่อไป อาจจะมีโอกาสตกงานแน่ (แต่วันนั้นพวกเขาก็ได้เงินมานะครับ) เลยวาง “เป้าหมาย” ก่อนว่า ถ้าลาออกแล้วจะไปทำอะไรต่อ…เพราะงานที่ทำอยู่ตอนนั้น ก็เป็นงานที่รัก ไปทำงานทุกวันด้วยความสุข แต่คิดแล้วว่า ถ้าไม่ออกช่วงหนุ่มๆ แล้วแก่ตัวไป จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาสร้างธุรกิจของตัวเอง… คิดแล้ว เลยตัดสินใจยื่นใบลาออก ทำมาเกือบสองปี…เจ้านายไม่ปริปาก ห้ามปรามเลย…อุตส่าห์ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แทบตาย ความผูกพันคงหายไปกับการจ่ายเงินเดือน?
.
ผมเพิ่งรู้ต่อมา ว่า ปี พ.ศ. 2540 เป็นปีหายนะของเศรษฐกิจไทย ! โดยเฉพาะบริษัทเงินทุนล้มกันเป็นโดมิโน !
.
ปีนั้น คนตกงานเป็นว่าเล่น อย่าว่าพวกพนักงานลำบากเลย เศรษฐีหลายคน ยังต้องเอาของใช้ของสะสม มาเปิดท้ายขายของเพื่อหาตังค์ประทังชีพ
.
ผมค่อนข้างที่โชคดีหน่อยว่า ช่วงทำงานประจำมีตำแหน่งใหญ่ พอที่จะอาศัยเรื่องของสายสัมพันธ์ในการทำธุรกิจได้ พอออกมาทุนที่เตรียมไว้ซื้อของมาขายก็แทบไม่ต้องใช้ เพราะช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ซัพพลายเออร์เหล่านี้เขาก็อยากระบายของในสต๊อกอยู่แล้ว ถ้าเป็นคนรู้จักและไว้ใจได้ เขาเอาของมาให้แบบฝากขายฟรีๆ แถมมีเครดิตให้อีกด้วย…
.
ย้อนกลับมายุคปัจจุบัน ที่มี “อินเทอร์เน็ต” เป็นเครื่องมือช่วยทำมาหากิน ที่วันนี้ ใครหลายคนก็ใช้เป็น “สื่อกลาง” ในการทำธุรกิจ ทั้งรับจ้าง ให้บริการ สอนพิเศษ หรือแม้แต่ค้าขาย มูลค่าเติบโตขึ้นทุกวัน จนทำให้ธุรกิจยุคเดิมที่ไม่ยอมปรับตัว กำลังประสบปัญหา
.
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะเข้ามาโพสต์แล้วจะขายของได้ หรือจะกลายเป็นธุรกิจให้ทำอย่างต่อเนื่อง
.
ผมมีคำแนะนำสำหรับพนักงานที่อยากลาออกว่า สามารถใช้  “อินเทอร์เน็ต” ลองทำธุรกิจดูก่อนว่า ตัวเองมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นเจ้าของกิจการได้หรือยัง ? โดยเริ่มต้นจากขั้นตอนต่อไปนี้
.
1.ตนเองเก่งและชอบอะไร สามารถพัฒนาเป็นทักษะที่ตลาดต้องการได้หรือไม่ ?
.
2.มนุษย์สัมพันธ์ ระหว่างที่ทำงานประจำนั้น มีโอกาสได้พบปะกับผู้คน ลองประเมินดูว่า มีกี่คนที่เขาอยากเป็นเพื่อนกับเราบ้าง เชื่อหรือไม่ ว่ากลุ่มลูกค้ารายแรกๆ ของเรามักจะมาจากเพื่อน พี่น้อง และคนที่รักเรา เขาจะช่วยอุดหนุน และให้กำลังใจ
.
3.
ถ้าต้องนำสินค้านั้นมาจำหน่าย ต้องรู้ว่ามีจุดแข็งอะไรที่แตกต่างจากคู่แข่ง และตนเองมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์นั้นอย่างลึกซึ้งเพียงพอที่จะอธิบายให้กับกลุ่มเป้าหมายเข้าใจ ได้อย่างมีความสุขหรือไม่ ?
.
4.
ความรู้เรื่องการตลาด โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งโชเชียล เน็ทเวอร์ค และการรู้ว่าจะผลิตข้อมูลแบบไหน, จะส่งให้ใคร ในเวลาใด (รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย)
.
5.
ลงมือทำ แม้ว่าจะมีงานประจำ ก็ต้องบริหารเวลา อย่าให้งานที่เขาจ้างเสียหาย แต่ก็ต้องไม่ละเลย งานที่จะเป็นอนาคตของเรา ซึ่งลองแยกองค์ประกอบของธุรกิจออกมาเป็นส่วน ๆ ส่วนไหนจะใช้วิธีจ้างคนภายนอกช่วย เช่นจ้างผลิต, จ้างส่งของ แต่ส่วนการติดต่อลูกค้า ควรเป็นหน้าที่ของเราโดยตรงจะได้รับทราบปัญหาเพื่อนำมาปรับปรุง
.
6.
อย่ากลัวความล้มเหลว เศรษฐีหลายคนกว่าจะขึ้นมาร่ำรวยนั้น ทั้งท้อ, ทั้งทุกข์ยากมาหลายครั้งกว่าจะประสบความสำเร็จ ในอดีตเรื่องของคนจีนที่มีแต่เสื่อผืน หมอนใบ แล้วอพยพมาอยู่เมืองไทย ขยันทำมาหากิน จนกลายเป็น “เจ้าสัว” ในปัจจุบัน
.
7.
ที่ปรึกษาดี….มีโครงการของภาครัฐ มากมายที่พร้อมให้คำปรึกษา อย่าลืมไปใช้บริการ แล้วเลือกคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ไปใช้ ยุคนี้ การมี “เครือข่าย” ที่แข็งแรง จะช่วยให้เติบโตเร็วขึ้น
.
8.
โชค สร้างด้วยการทำบุญทำทาน รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่นยามที่มีโอกาส
.
ลองทำตามคำแนะนำนี้ดู แล้วจะรู้ว่า “เมื่อไหร่” คุณควรจะลาออกมาเป็นเจ้าของกิจการ ขอให้โชคดี มีเงินใช้ตลอดไปครับ !
.
สิทธิเดช ลีมัคเดช